ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Sheridan Voysey

ดาวที่ส่องแสง

สิ่งแรกที่ผมสังเกตเห็นในเมืองนี้คือสถานที่เล่นการพนัน ถัดมาคือร้านขายกัญชา ร้าน “สำหรับผู้ใหญ่” และป้ายโฆษณาขนาดยักษ์สำหรับพวกทนายที่ฉวยโอกาสจะหาเงินจากความตกต่ำของผู้อื่น ผมเคยเดินทางไปเมืองที่มีอบายมุขหลายแห่ง แต่ที่นี่ดูเหมือนจะตกต่ำลงไปอีก

แต่อารมณ์ของผมสดชื่นขึ้นเมื่อได้คุยกับคนขับแท็กซี่ในตอนเช้าวันต่อมา “ผมขอพระเจ้าทุกวันให้ส่งคนที่พระองค์อยากให้ผมช่วยมา” เขาเล่า “คนติดการพนัน โสเภณี คนจากครอบครัวที่แตกสลายเล่าปัญหาของพวกเขาให้ผมฟังทั้งน้ำตา ผมหยุดรถ ผมฟัง ผมอธิษฐานเผื่อพวกเขา นี่คือพันธกิจของผม”

หลังจากอธิบายเรื่องที่พระเยซูเสด็จเข้ามาในโลกที่ล้มลงในบาปของเรา (ฟป.2:5-8) อัครทูตเปาโลก็ได้ท้าทายผู้ที่เชื่อในพระเยซู ในขณะที่เรากระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า (ข้อ 13) และยึดมั่นใน “พระวาทะแห่งชีวิต” คือ
พระกิตติคุณ (ข้อ 16) เราจะเป็น “บุตรที่ปราศจากตำหนิของพระเจ้า ในท่ามกลางพงศ์พันธุ์ที่คดโกงและวิปลาส” ผู้ “ปรากฏ...ดุจดวงสว่างต่างๆในโลก” (ข้อ 15) ให้เราเป็นเหมือนคนขับแท็กซี่คนนั้นที่นำแสงแห่งพระเยซูเข้าไปในความมืด

นักประวัติศาสตร์คริสโตเฟอร์ ดอว์สันกล่าวไว้ว่า ผู้เชื่อในพระคริสต์จำเป็นต้องดำเนินชีวิตอย่างสัตย์ซื่อเพื่อที่จะเปลี่ยนโลก เพราะการดำเนินชีวิตเช่นนั้น “ประกอบไปด้วยความล้ำลึกแห่งโลกฝ่ายวิญญาณ” ให้เราทูลขอพระวิญญาณของพระเจ้าทรงช่วยเราให้สามารถมีชีวิตที่สัตย์ซื่อในฐานะคนของพระเยซู ผู้ส่องแสงของพระองค์ไปในที่ที่มืดมิดที่สุดในโลก

ทุกคนล้วนนมัสการ

ผมไปเที่ยวที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซมาเมื่อเร็วๆนี้ ขณะที่เดินไปรอบๆอะโกร่าซึ่งเป็นตลาดในยุคโบราณที่นักปรัชญาใช้ในการสั่งสอน และชาวเอเธนส์ใช้บูชาเทพเจ้านั้น ผมเห็นแท่นบูชาของเทพเจ้าอะพอลโลและซุส ตั้งอยู่ภายใต้ร่มเงาของป้อมปราการอะโครโพลิสที่ซึ่งรูปปั้นของเทพีอะธีน่าเคยตั้งอยู่

แม้ผู้คนจะไม่ได้บูชาเทพอะพอลโลหรือซุสแล้วในปัจจุบัน แต่สังคมเราไม่ได้เคร่งศาสนาน้อยลงเลย นักเขียนนิยาย เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลสกล่าวว่า “ทุกคนล้วนนมัสการ” และเขายังเตือนอีกว่า “ถ้าคุณนมัสการเงินและสิ่งของ... คุณจะไม่มีวันมีมากพอ ถ้าคุณนมัสการร่างกายและความสวยงาม... คุณจะรู้สึกอัปลักษณ์อยู่เสมอ ถ้าคุณนมัสการความฉลาดของตนเอง... ท้ายที่สุดแล้วคุณจะรู้สึกโง่เขลา” คนในยุคเรามีรูปเคารพของตนเอง และนั่นเป็นสิ่งอันตราย

“ท่านชาวกรุงเอเธนส์!” เปาโลกล่าวขณะท่านไปเยือนที่อะโกร่า “โดยประการต่างๆข้าพเจ้าเห็นได้ว่า ท่านทั้งหลายเป็นนักศาสนา” (กจ.17:22) และท่านได้บรรยายถึงพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียวว่าทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง (ข้อ 24-26) ผู้ทรงต้องการให้เรารู้จักพระองค์ (ข้อ 27) และผู้ทรงสำแดงพระองค์เองผ่านการคืนพระชนม์ของพระเยซู (ข้อ 31) โดยต่างจากเทพอะพอลโลและซุส พระเจ้าองค์นี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์ และพระองค์ไม่เหมือนกับเงินทอง รูปร่างหน้าตา หรือความเฉลียวฉลาด การนมัสการพระองค์จะไม่ทำให้เราพินาศ

“พระเจ้า” ของเรานั้นคือสิ่งใดก็ตามที่เราพึ่งพาเพื่อทำให้เรามีเป้าหมายและความปลอดภัย ขอบคุณพระเจ้าที่เมื่อเทพเจ้าทุกองค์ในโลกนี้ทำให้เราผิดหวัง แต่พระเจ้าผู้เที่ยงแท้องค์เดียวนั้นทรงรอคอยที่เราจะได้พบกับพระองค์ (ข้อ 27)

ความเห็นอกเห็นใจจากสมาร์ทโฟน

คนขับรถส่งอาหารของคุณมาช้าไปไหม คุณสามารถใช้โทรศัพท์เพื่อให้คะแนนหนึ่งดาวกับเขาได้ เจ้าของร้านปฏิบัติต่อคุณอย่างหยาบคายไหม คุณเขียนรีวิววิจารณ์เธอได้ ในขณะที่สมาร์ทโฟนช่วยให้เราซื้อของ ติดต่อกับเพื่อน และอื่นๆอีกมาก สมาร์ทโฟนยังให้อำนาจแก่เราในการให้คะแนนกันและกันแบบสาธารณะ และนี่อาจเป็นปัญหาได้

การให้คะแนนกันและกันด้วยวิธีนี้เป็นปัญหาเนื่องจากการตัดสินอาจทำได้โดยไม่มีบริบท คนขับได้รับคะแนนไม่ดีในการจัดส่งที่ล่าช้าเนื่องจากสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเขา เจ้าของร้านได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบขณะที่เธอตื่นอยู่ตลอดคืนเพราะลูกที่ป่วย เราจะหลีกเลี่ยงการให้คะแนนผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ได้อย่างไร

โดยการเลียนแบบพระลักษณะของพระเจ้า ในอพยพ 34:6-7 พระเจ้าอธิบายพระองค์เองว่า “ทรงพระกรุณา และทรงกอปรด้วยพระคุณ” หมายความว่าพระองค์จะไม่ตัดสินความล้มเหลวของเราโดยไม่มีบริบท “ทรงกริ้วช้า” หมายความว่าพระองค์จะไม่โพสต์คำวิจารณ์แง่ลบหลังจากประสบการณ์แย่ๆเพียงครั้งเดียว “บริบูรณ์ด้วยความรักมั่นคง” หมายความว่า การที่พระองค์ทรงแก้ไขเราก็เพื่อประโยชน์ของเรา ไม่ใช่เพื่อแก้แค้น และ “โปรดยกโทษ[จาก]การล่วงละเมิด” หมายความว่าชีวิตของเราไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดจากวันที่เราได้ดาวเดียว เนื่องจากพระลักษณะของพระเจ้าต้องเป็นรากฐานของเรา (มธ.6:33) เราจึงหลีกเลี่ยงความเลวร้ายจากสมาร์ทโฟนได้โดยใช้มันตามที่พระองค์จะทรงใช้ในยุคออนไลน์นี้ เราทุกคนสามารถให้คะแนนผู้อื่นแบบเลวร้ายได้ ขอพระวิญญาณเสริมกำลังเราที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจเล็กๆน้อยๆในวันนี้

ต้อนรับคนต่างด้าว

ในตอนที่พวกผู้หญิงและเด็กๆชาวยูเครนหลายพันคนมาถึงสถานีรถไฟกรุงเบอร์ลินเพื่อหนีภัยสงคราม พวกเขาก็ได้พบกับเรื่องน่าประหลาดใจ นั่นคือครอบครัวชาวเยอรมันถือป้ายที่ทำขึ้นเองเสนอให้ที่หลบภัยในบ้านของพวกเขา ป้ายหนึ่งเขียนว่า “พักได้สองคน!” อีกป้ายหนึ่งเขียนว่า “ห้องใหญ่[ว่าง]” เมื่อถามว่าทำไมจึงเสนอการเอื้อเฟื้อเช่นนี้กับคนแปลกหน้า สตรีคนหนึ่งบอกว่าแม่ของเธอเคยต้องการที่หลบภัยขณะหลบหนีพวกนาซี เธอจึงอยากช่วยผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน

ในพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ พระเจ้าทรงเรียกคนอิสราเอลให้ดูแลผู้คนที่อยู่ห่างไกลบ้านเกิดของตน เพราะเหตุใดน่ะหรือ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ปกป้องลูกกำพร้า แม่ม่ายและคนต่างด้าว (10:18) และเพราะคนอิสราเอลรู้ว่าความรู้สึกอ่อนแอเช่นนี้เป็นอย่างไร “เพราะท่านทั้งหลายก็เป็นคนต่างด้าวในแผ่นดินอียิปต์” (ข้อ 19) ความเห็นอกเห็นใจคือสิ่งเร้าให้พวกเขาห่วงใย

แต่เรื่องนี้ยังมีอีกด้านหนึ่งคือ เมื่อหญิงม่ายที่เมืองศาเรฟัทต้อนรับเอลียาห์คนต่างด้าวเข้ามาในบ้านของเธอนั้น เธอคือผู้ที่ได้รับพร (1 พกษ.17:9-24) เช่นเดียวกับอับราฮัมที่ได้รับพรจากแขกต่างแดนสามคน(ปฐก.18:1-15) พระเจ้ามักจะใช้การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่ออวยพรไม่เพียงแค่แขกเท่านั้นแต่เจ้าของบ้านด้วย

การต้อนรับคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านของคุณเป็นเรื่องยาก แต่ครอบครัวชาวเยอรมันเหล่านั้นอาจเป็นผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง เช่นกันเมื่อเราตอบสนองคนอ่อนแอด้วยความเห็นอกเห็นใจของพระเจ้า เราอาจประหลาดใจกับของประทานที่พระองค์ประทานแก่เราผ่านคนเหล่านั้น

สติปัญญาแบบใด

ก่อนวันอีสเตอร์ในปี 2018 ผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งเข้าไปในตลาดแล้วสังหารคนไปสองคนและจับผู้หญิงคนที่สามเป็นตัวประกัน เมื่อความพยายามขอปล่อยตัวผู้หญิงล้มเหลว ตำรวจนายหนึ่งจึงยื่นข้อเสนอกับผู้ก่อการร้าย ให้ปล่อยตัวผู้หญิงแล้วจับเขาไปแทน

ข้อเสนอนี้น่าตกใจเพราะขัดแย้งกับสติปัญญาโดยทั่วไป คุณสามารถบอกถึง “สติปัญญา” ของวัฒนธรรมหนึ่งได้เสมอจากคำกล่าวที่มักถูกพูดถึง เหมือนคำพูดของคนดังที่ถูกโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย “การผจญภัยยิ่งใหญ่ที่สุดคือการใช้ชีวิตตามฝันของคุณ” อีกประโยคกล่าวว่า “รักตัวเองก่อน แล้วทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง” และประโยคที่สาม “ทำในสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อตัวคุณเอง” หากเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้น เขาคงคิดถึงตัวเองก่อนแล้ววิ่งหนีไป

อัครทูตยากอบกล่าวว่ามีปัญญาสองแบบในโลก คือปัญญา “อย่างโลก” และปัญญา “จากเบื้องบน” แบบแรกถูกกำหนดโดยความมักใหญ่ใฝ่สูงและการวุ่นวายอันเห็นแก่ตนเอง (ยก.3:14-16) ส่วนแบบที่สองนั้นมาจากใจอ่อนสุภาพ การยอมจำนนและการสร้างสันติ (ข้อ 13,17-18) ปัญญาอย่างโลกให้ความสำคัญกับตนเองเป็นอันดับแรก ส่วนปัญญาจากเบื้องบนนั้นชื่นชมผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่ชีวิตที่ประพฤติดีด้วยใจอ่อนสุภาพ (ข้อ 13)

ผู้ก่อการร้ายยอมรับข้อเสนอของตำรวจ ตัวประกันถูกปล่อยตัว ตำรวจนายนั้นถูกยิงและอีสเตอร์ครั้งนั้นโลกได้เห็นชายบริสุทธิ์คนหนึ่งตายแทนผู้อื่น

ปัญญาจากเบื้องบนนำไปสู่การประพฤติดีด้วยใจอ่อนสุภาพเพราะปัญญานั้นวางพระเจ้าไว้เหนือตนเอง (สภษ.9:10) แล้วสติปัญญาแบบใดที่คุณใช้ในวันนี้

แตกต่างกันได้ในพระเยซู

นักวิเคราะห์ธุรกิจชื่อฟรานซิส อีแวนส์เคยทำการศึกษาพนักงานขายประกัน 125 คนเพื่อค้นหาสิ่งที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ น่าประหลาดใจที่ความสามารถไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่อีแวนส์พบว่าลูกค้ามีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากพนักงานขายที่มีความคิดเห็นทางการเมือง มีการศึกษา และแม้แต่ความสูงที่เหมือนกัน นักวิชาการเรียกสิ่งนี้ว่า โฮโมฟิลี (homophily) คือแนวโน้มของการชอบคนที่มีความคล้ายคลึงกับเรา

แนวโน้มที่ชอบคนที่คล้ายกับเรานี้เกิดขึ้นในด้านอื่นๆของชีวิตด้วย คือการที่เรามักจะแต่งงานและคบเพื่อนที่คล้ายกับเรา โดยธรรมชาตินั้นแนวโน้มเช่นนี้อาจเป็นอันตรายได้หากไม่มีการควบคุม เพราะเมื่อเราเลือกเฉพาะคนที่ “เป็นเหมือนเรา” สังคมอาจเกิดการแตกแยกในความคิดเห็นด้านเชื้อชาติ การเมือง และเศรษฐกิจ

ในช่วงศตวรรษแรก ชาวยิวอยู่เฉพาะกับชาวยิว ชาวกรีกอยู่เฉพาะกับชาวกรีก คนรวยและคนจนจะไม่ปะปนกัน แต่ในพระธรรมโรม 16:1-16 เปาโลพูดถึงคริสตจักรในกรุงโรมโดยรวมเอาปริสคาและอาควิลลา (ชาวยิว) เอเปเนทัส (กรีก) เฟบี (ผู้ “สงเคราะห์คนหลายคน” จึงน่าจะเป็นผู้มีฐานะ) และฟีโลโลกัส (ชื่อที่ใช้ทั่วไปสำหรับทาส) ผู้คนที่แตกต่างกันเหล่านี้มารวมตัวกันเพราะใคร เพราะพระเยซู ซึ่งในพระองค์นั้น “จะไม่เป็นยิวหรือกรีก จะไม่เป็นทาสหรือไท” (กท.3:28)

เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราต้องการใช้ชีวิต ทำงาน และไปคริสตจักรกับคนที่เหมือนเรา แต่พระเยซูทรงผลักดันให้เราทำมากกว่านั้น ในโลกที่ผู้คนแตกแยกกันไปตามเส้นแบ่งหลายๆอย่าง พระองค์ทรงทำให้เราเป็นคนที่แตกต่างแต่ไม่แตกแยก โดยรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะครอบครัวของพระองค์

คนชั้นล่าง

เพื่อนของฉันทำงานอยู่บนเรือพยาบาลที่มีชื่อว่าแอฟริกาเมอร์ซี่ ซึ่งให้บริการด้านการรักษาพยาบาลฟรีแก่ประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเจ้าหน้าที่จะให้บริการผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาพยาบาลวันละหลายร้อยคน

ทีมงานโทรทัศน์ที่ขึ้นไปบนเรือเป็นระยะๆได้ถ่ายทำเรื่องราวที่น่าทึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังทำการรักษาคนไข้ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่และโรคเท้าปุก บางครั้งพวกเขาจะลงไปที่ชั้นล่างเพื่อสัมภาษณ์ลูกเรือคนอื่นๆ แต่งานที่มิคทำมักจะไม่มีใครสังเกตเห็น

มิคซึ่งเป็นวิศวกรยอมรับว่าเขารู้สึกประหลาดใจที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในสถานที่เช่นนั้น คือที่ห้องบำบัดน้ำเสียของเรือ ปริมาณขยะบนเรือในแต่ละวันนั้นมีมากกว่าสามหมื่นกิโลกรัม การจัดการกับขยะพิษนี้เป็นงานที่ยาก ถ้าไม่มีมิคคอยดูแลท่อและปั๊มน้ำ ปฏิบัติการช่วยชีวิตของแอฟริกาเมอร์ซี่จะยุติลง

เป็นเรื่องง่ายที่จะยกย่องคนเหล่านั้นที่อยู่บน “ดาดฟ้าเรือชั้นบนสุด” ของพันธกิจคริสเตียน ในขณะที่มองข้ามผู้ที่อยู่ในครัวด้านล่าง เมื่อชาวโครินธ์ ยกย่องผู้ที่มีของประทานพิเศษเหนือผู้อื่น เปาโลเตือนพวกเขาว่าผู้เชื่อทุกคนต่างก็มีบทบาทหน้าที่ในงานของพระคริสต์ (1 คร.12:7-20) และของประทานทุกอย่างล้วนมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคหรือการช่วยเหลือผู้อื่น (ข้อ 27-31) อันที่จริงยิ่งบทบาทนั้นโดดเด่นน้อยเท่าไหร่ ยิ่งสมควรจะได้รับเกียรติมากขึ้นเท่านั้น (ข้อ 22-24)

คุณเป็นคน “ชั้นล่าง” หรือเปล่า จงเงยหน้าขึ้น งานของคุณจะได้รับเกียรติจากพระเจ้าและสำคัญสำหรับเราทุกคน

ความเชื่อในยามอับปาง

ในเดือนมิถุนายนค.ศ. 1965 วัยรุ่นชาวตองก้าหกคนแล่นเรือออกจากเกาะที่พวกเขาพักอาศัยเพื่อไปผจญภัย แต่เมื่อพายุพัดเสากระโดงเรือและหางเสือจนพังในคืนแรก พวกเขาจึงลอยอยู่ในทะเลหลายวันโดยไม่มีอาหารหรือน้ำดื่ม ก่อนที่เรือจะไปเกยตื้นที่เกาะอาตาซึ่งไม่มีคนอาศัยอยู่ และต้องติดอยู่ที่นั่นถึงสิบห้าเดือนกว่าจะมีคนมาเจอพวกเขา

เด็กหนุ่มเหล่านั้นช่วยกันทำงานเพื่อความอยู่รอดบนเกาะอาตา พวกเขาทำแปลงผักขนาดเล็ก ทำโพรงในต้นไม้เพื่อกักเก็บน้ำฝน หรือแม้แต่สร้างโรงยิมชั่วคราว เมื่อเด็กคนหนึ่งขาหักจากการตกหน้าผา คนอื่นๆก็เข้าเฝือกให้โดยใช้กิ่งไม้และใบไม้ เมื่อมีการโต้เถียงกัน พวกเขาจะบังคับให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกัน และทุกวันพวกเขาจะเริ่มต้นและจบลงด้วยการร้องเพลงและอธิษฐาน เมื่อเด็กๆกลับมาในสภาพที่แข็งแรงหลังจากผ่านบททดสอบที่ทรหด ครอบครัวของพวกเขาต่างพากันประหลาดใจเพราะได้จัดงานศพให้พวกเขาไปแล้ว

การเป็นผู้เชื่อในพระเยซูในศตวรรษแรกอาจเป็นประสบการณ์ที่โดดเดี่ยว การถูกข่มเหงเพราะความเชื่อและถูกตัดขาดจากครอบครัว อาจทำให้คนๆนั้นรู้สึกโดดเดี่ยว เปโตรหนุนใจคนที่อยู่ในภาวะเหมือนเรืออัปปางเช่นนี้ให้ยังคงมีวินัยและอธิษฐาน (1ปต.4:7) ให้ดูแลกันและกัน (ข้อ 8) และให้ใช้ความสามารถที่มีเพื่อทำงานให้สำเร็จ (ข้อ 10-11) ในเวลาที่เหมาะสมพระเจ้าจะนำพวกเขาผ่านการทดสอบด้วย “เข้มแข็ง มั่นคง และแน่วแน่” (5:10 TNCV)

ในช่วงเวลาของการทดลอง เราจำเป็นต้องมี “ความเชื่อในยามอับปาง” จงอธิษฐานและทำงานด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แล้วพระเจ้าจะทรงนำเราผ่านพ้นไป

ซ่อมรถโกคาร์ท

โรงรถของบ้านผมในวัยเด็กนั้นมีความทรงจำมากมาย ในตอนเช้าวันเสาร์พ่อจะย้ายรถออกเพื่อให้เรามีพื้นที่ทำงาน สิ่งที่ผมชอบทำคือการซ่อมรถโกคาร์ทที่เสียแล้วซึ่งเราเจอมา เราเปลี่ยนล้อและติดกระจกบังลมพลาสติกทรงสปอร์ตที่บนพื้นในโรงรถ เสร็จแล้วผมจะขับโกคาร์ทลงไปที่ถนนอย่างเร็วด้วยความตื่นเต้นโดยมีพ่อคอยดูรถบนถนนให้ เมื่อมองย้อนกลับไปผมเห็นว่าภายในโรงรถนั้นมีสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าการซ่อมรถโกคาร์ท แต่เป็นการที่เด็กชายคนหนึ่งได้รับการขัดเกลาจากพ่อของเขา และได้เห็นภาพของพระเจ้าในขั้นตอนนั้นด้วย

มนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามพระลักษณะของพระเจ้า (ปฐก.1:27-28) การเป็นพ่อแม่มีต้นกำเนิดขึ้นในพระเจ้าเช่นกัน เพราะพระองค์ทรงเป็น “พระบิดา(คำว่าบิดาของทุกตระกูล ทุกชาติ ในสวรรค์ก็ดี ที่แผ่นดินโลกนี้ก็ดีมาจากคำว่าพระบิดา)” (อฟ.3:14-15) พ่อแม่เลียนแบบความสามารถของพระเจ้าในการให้ชีวิตด้วยการให้กำเนิดเด็กๆขึ้นมาในโลก ในทำนองเดียวกัน เวลาที่พ่อแม่เลี้ยงดูปกป้องลูกของตน พวกเขาก็ได้สำแดงคุณลักษณะที่ไม่ได้มาจากตัวของเขาเองแต่มาจากพระเจ้า พระเจ้าทรงเป็นต้นแบบของการเป็นพ่อแม่ในทุกๆด้าน

พ่อของผมไม่ได้สมบูรณ์แบบ ท่านก็เหมือนกับพ่อแม่ทั่วไปที่บางครั้งก็ล้มเหลวในการเลี้ยงลูกตามแบบของพระเจ้า แต่ในหลายๆครั้งเมื่อท่านทำตามแบบอย่างของพระเจ้า มันทำให้ผมเห็นภาพของการเลี้ยงดูและการปกป้องของพระองค์ ณ ช่วงเวลานั้นที่เราซ่อมรถโกคาร์ทอยู่บนพื้นโรงรถด้วยกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา